วันพฤหัสบดีที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัญหา....หลังน้ำท่วม ตอนที่ 4

เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า จมน้ำหมดเลย ทำไงดี สิ่งที่ท่านถามมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ หรือเครื่องกลต่างๆ (อาจจะรวมได้ไปจนถึงรถยนต์ด้วยก็ได้) ล้วนแต่เป็นเครื่องจักรกลที่อย่างเราอย่างท่านไม่น่าประมาท หรือรู้มากเข้าไปแก้ไขซ่อมแซมเอง ขอความกรุณาอย่าเพิ่งใช้ (หากไม่จำเป็นจริงๆๆๆๆ) หากโดนน้ำท่วมแล้ว น้ำเจ้ากรรมไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว (แถมยังแช่ไว้ด้วย) ถอดออกไปให้ช่างผู้รู้เขาตรวจสอบดูก่อนดีกว่า กรุณาอย่าประมาทเอาไปตากแดดแล้วคิดว่าแห้งแล้วเลยนำไปใช้ต่อ เพราะความชื้นบางส่วนอาจจะฝังอยู่ข้างใน พอเครื่องกลนั้นทำงานโดยใช้กระแสไฟฟ้า อาจทำให้เกิดปัญหากับตัวบ้านหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากแม้นจำเป็นจริงๆ (ซึ่งผมหวังว่าคงจะไม่มี) ยามจะใช้เครื่องกลเหล่านั้นน่ามีข้อคิด 3 ประการ คือ 1. ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีผู้ใหญ่อยู่ไกล้ๆเสมอ เิดอะไรผิดปกติขึ้นมาต้องดับเครื่องปิดเครื่องทันที 2. ที่คัทเอ๊าท์ไฟฟ้าหลักของบ้าน จะต้องมีฟิวส์ที่มีคุณภาพติดตั้งอยู่เสมอ เกิดไฟฟ้าลัดวงจร ต้องแน่ใจว่าวงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออก 3. เมื่อไรไม่จำเป็นจริงๆแล้ว พอมีเวลาบ้าง และพอมีงบประมาณ กรุณานำไปให้ช่างผู้รู้ตรวจสอบเสีย

วันจันทร์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัญหา....หลังน้ำท่วม ตอนที่ 3

วอลล์เปเปอร์ และผ้าม่านจมน้ำ เป็นคราบน่าเกลียด แก้ยังไง
ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับท่านว่า ท่านคงเป็นผู้มีฐานะบ้าง และคงไม่เดือดร้อนแสนสาหัสดังเช่นประชาชนที่ถูกภัยน้ำท่วมส่วนใหญ่ของประเทศ เรื่องผ้าม่านคงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่จะซ่อมแซมดูแล ก็เหมือนกับเสื้อผ้าทั่วไปที่ถูกน้ำท่วม หากแม้นสามารถถอดออกมาซักทำความสะอาดได้ ก็ดำเนินการเสีย แต่หากสกปรกมากและเปื่อยยุ่ย ท่านก็คงต้องหาซื้อมาเปลี่ยนตามสมควร ส่วนเรื่องวอลล์เปเปอร์นั้น ก็เหมือนกับเรื่องสี หากมีปัญหาเรื่องลอกเรื่องล่อนก็ทำการลอกออกเสีย เพื่อให้ความชื้นในผนังนั้นสามารถระเหยออกมาได้ง่าย (โดยเฉพาะอย่างยิ่งวอลล์เปเปอร์ที่ทำด้วยไวนีลหรือวัสดุประเภทยาง น่าจะต้องรีบลอกออกเพราะเป็นตัวกักความชื้นในผนังได้อย่างดี ) เมื่อผนังแห้งหมดแล้ว แห้งดีแล้ว จึงให้ช่างปูวอลล์เปเปอร์มาลอกออกแล้วปิดทับเข้าไปให้งดงามครับ

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัญหา....หลังน้ำท่วม ตอนที่ 2

สีทาบ้าน ทั้งสีน้ำ สีพลาสติก สีน้ำมัน ฯลฯ ต้องทำอย่างไรบ้าง เรื่องของการแก้ไขเกี่ยวกับสีทาบ้าน ขอให้เป็นสิ่งสุดท้ายหรือเกือบสุดท้ายที่เราจะซ่อมแซมบ้าน กรุณาอย่าอายใครที่เขาจะมาหาว่าบ้านเราสีกระดำกระด่าง หรือสีลอกเป็นขี้กลาก ปล่อยคนที่เขาดูถูกเราไปเถอะ เพราะเรื่องน้ำท่วมมิใช่กรรมของเราที่ก่อขึ้นมา (อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทางตรง) เขาจะว่าอะไรจะดูถูกอย่างไรก็ปล่อยเขาไป (แล้วทำบุญกรวดน้ำให้เขา ลดอวิชชาที่ครอบงำจิตใจเขาด้วย) สีทุกชนิดที่เราใช้ทาบ้าน (ไม่รวมสีทาเรือ สีทาเครื่องบิน สีทาภายในถังน้ำ) เมื่อถูกความชื้นหนักๆอย่างน้ำท่วมคราวนี้จะต้องมีอันเป็นไปเกือบทุกที .....ข้อคิดสำคัญในเรื่องของสีทาบ้านก็คือปัญหาของสีลอกสีล่อน หลักๆไม่เกิดเพราะคุณภาพของสี แต่เกิดจากความไม่พร้อมของพื้นผิวที่ทาสี หากพื้นผิวที่จะทาสีเกิดความชื้นหรือมีสิ่งสกปรกติดอยู่ ทาสีทับลงไปอย่างไรก็ลอกก็ล่อนออกหมด ดังนั้นขอให้ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งทาสี ทำความสะอาดหรือลอกสีเดิมออกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ลอกเฉพาะตรงที่มีปัญหาไม่ใช่ลอกหมดทั้งบ้าน) ทิ้งไว้นานๆ(อาจจะหลายเดือนจนถึงหน้าแล้งฤดูร้อนก็นับว่าไมาสายเกินไป)

วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

ปัญหา....หลังน้ำท่วม ตอนที่ 1

สวัสดีครับวันนี้สถาปนิกอาสาขอนำบทความดีๆของ อ.ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาหลังน้ำท่วมที่เกิดขึ้นภายในบ้าน มาให้อ่านกันเห็นว่ามีประโยชน์และเข้ากับสถานการณ์ในขณะนี้ พื้นหลังน้ำท่วม ทั้งพรมทั้งกระเบื้อง ทั้งหินอ่อนหินขัด สกปรกจัง
พื้นสกปรกก็ขอให้ทำความสะอาดเสียก็จบเรื่อง แต่ความน่าสนใจสำหรับพื้นที่ถูกน้ำท่วมก็คือวัสดุปูพื้นที่เสียหายต่างหาก เคยพูดไว้ในข้อต้นๆว่า หากพื้นไม้ปาร์เก้ถูกน้ำท่วมจะต้องทำอย่างไร แก้อย่างไร ตอนนี้อยากจะเล่าให้ทราบถึงเรื่องพื้นปูพรม หากถูกน้ำท่วมคงจะต้องรื้อพรมออกทั้งหมด เพราะปล่อยไว้จะเกิดอาการ "พรมเน่า" ส่งกลิ่นเหม็นรบกวนท่านชั่นาตาปีทีเดียว เมื่อลอกพรมออกแล้ว นำพรมไปซักและตากแดดให้แห้งแล้วจึงนำมาปูใหม่ (พรมอาจจะยืดจะหดไปบ้างคงจะต้องยอมรับสภาพครับ) สิ่งสำคัญก็คือตอนที่จะปูทับกลับไป ต้องมั่นใจว่าพื้นคอนกรีตของเรานั้น จะต้องแห้งเพียงพอ มีเวลาให้ความชื้นที่สะสมไว้ในตัวคอนกรีตระเหยออกมาเสียก่อน

วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2554

สถาปนิก จะช่วยคนบ้านน้ำท่วมได้อย่างไรบ้าง

บทความนี้เป็นของท่านอาจารย์ ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ ซึ่งประกาศต่อสังคมเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาปนิกไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งบทความนี้เป็นบทความสุดท้ายของหนังสือพอกเก็ตบุ๊คพิมพ์แจกของ มูลนิธิซีเมนต์ไทย ชื่อ " บ้านหลังน้ำท่วม " ร้อยพันปัญหาหลังกระแสน้ำลด
สถาปนิกเป็นคนไทยคนหนึ่ง สถาปนิกเป็นส่วนหนึ้งของสังคม สถาปนิกส่วนใหญ่ของประเทศนี้ร่ำเรียนวิชาติดตัวมา ก็เพราะภาษีราษฎรไทย.....จึงเป็นหน้าที่และภาระกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่ลับและที่แจ้งของสถาปนิก ที่จะต้องรับใช้ช่วยเหลือประชาชนในวิชาชีพที่ตนเองเมื่อยามที่ ประชาชนต้องการ
สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมของเหล่าสถาปนิกในประเทศไทย ยินดีให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทุกท่านที่เดือดร้อนเกี่ยวกับบ้านหลังน้ำท่วม ตามแนวทางวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ร่ำเรียนมา หากท่านมีปัญหากรุณาติดต่อได้ที่

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
248/1 ซอยโรงเรียนญี่ปุ่น ถนนพระรามที่ 9
เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร 10310
โทรศัพท์ 02-3196555
www.asa.or.th

วันอังคารที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ผนังบ้านชั้นล่างชื้นจนสีหลุดล่อน




ลูกค้าท่านหนึ่งได้เมล์มาปรึกษาเรื่องผนังบ้านภายนอกชื้นจนสีหลุดล่อน แก้ปัญหาโดยการทาสีแล้วก็ยังเป็นอยู่เหมือนเดิม อันนี้ต้องแก้ที่ต้นเหตุครับ เพราะผนังได้รับความชื้นจากพื้นดินรอบๆอยู่ตลอดเวลา ผมได้ลองเสนอทางแก้ปัญหาไว้ 2 แบบ คือ กรุกระเบื้องลายหินธรรมชาติุสูงขึ้นมาจากพื้นดินสัก 60-80 ซม. ส่วนอีกวิธีคือเทพื้นซีเมนต์รอบบ้านแล้วทำรางระบายน้ำฝังท่อระบายน้ำปิดทับด้านบนด้วยกรวดแม่น้ำซะเลย ให้มันกลมกลืนกับงานจัดสวน วิธีนี้เป็นการตัดความชื้นไม่ให้เข้าสู่ผนังบ้านได้อย่างดี แต่ต้องอาศัยการออกแบบดีๆเพื่อให้ดูกลมกลืนกับสวน ผลพลอยได้ของการแก้ปัญหาทั้งสองอย่าง คือ ทำให้ผนังไม่สกปรกเวลาฝนตกแล้วเศษดินกระเด็นติดผิวผนัง แต่สำหรับบางคนที่ไม่ได้ซีเรียสกับความชื้นดังกล่าวก็ใช้วิธีปลูกไม้พุ่มรอบบ้านปิดบังผนังด้านนอกก็ได้ แต่ต้องมั่นตรวจสอบผนังด้านในบ้านด้วนะครับว่า ความชื้นได้ซึมเข้ามาด้านในจนสร้างความเสียหรือเปล่า


การแก้ปัญหาด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ทาผนังด้านนอกเพื่อไม่ให้ผนังอมความชื้นก็เป็นอีกทางเลือที่น่าสนใจครับ แต่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงในครั้งแรก ลองสอบถามกับศูนย์สีชั้นนำดูครับ เดี๋ยวนี้สีทาบ้านเป็นมากกว่าการทาสีเพื่อความสวยงามแล้วครับ.........

วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2554

สถาปนิกอาสากับปัญหาเรื่องเสาเข็ม

วันนี้นึกขึ้นมาได้ว่าอยากเล่าเรื่อง การสร้างบ้านกับการเลือกเสาเข็ม มาตั้งนานแล้ว ผมเคยได้รับฟังปัญหาจากหลายๆท่านถึงปัญหาเพื่อนบ้านใหม่ที่กำลังปลูกบ้านใหม่หรือต่อเติมบ้าน ซึ่งมีการใช้เข็มตอกและทำให้เกิดความเสียหายกับบ้านข้างเคียง บางงานก็เป็นผู้รับเหมาทั่วๆไป บางงานเป็นบริษัทรับสร้างบ้านที่มีเชื่อเสียงเลยทีเดียว ผมไม่เข้าใจว่าถึงกล้าเสี่ยงที่จะใช้เสาเข็มตอกในเมื่อพื้นที่ใกล้เคียงกับบ้านข้างเคียงมากขนาดนั้น อาจจะด้วยมีเครื่องมือหรือเครื่องจักรอยู่แล้วหรือมีเพื่อนทำอาชีพนี้ ถ้าผมจำไม่ผิดการใช้เข็มตอกเราจะต้องมีการก่อสร้างจากอาคารข้างเคียง 10 เมตรขึ้นไป ยิ่งห่างยิ่งดี ถ้าจำเป็นต้องชิดจริงๆก็อาจจะใช้แผ่นเหล็กเสียบลงดินเป็นผนังกันกระเทือนได้เหมือนกัน แต่ค่าก่อสร้างคงจะสูงตามไปด้วย ผมว่าในกรณีที่จะต้องก่อสร้างหรือต่อเติมบ้านใหม่ที่พื้นที่ก่อสร้างอยู่ห่างจากบ้านข้างเคียงต่ำกว่า 10 เมตร ควรจะใช้เข็มเจาะมากกว่า หรือถ้า่ต่อเติมอาคารเพียงชั้นเดียวการเข็มคอนกรีตอัดแรงหกเหลี่ยมก็อาจจะเพียงพอแล้วครับ
ฝากถึงบริษัทรับสร้างบ้านด้วยครับว่า ก่อนคุณตกลงสร้างบ้านกับลูกค้าน่าจะมีผู้เชียวชาญสำรวจสถานที่ก่อสร้างซะก่อน จะได้แจ้งลูกค้าให้ทราบไปเลยว่าบ้านคุณต้องใช้เข็มเจาะ ราคาค่าก่อสร้างเท่านั้นเท่านี้ ดีกว่าปล่อยให้ลูกค้ารับวิบากกรรมตอนบ้านส้รางเสร็จ กลายเป็นศรัตรูกับเพื่อนบ้านไปโดยไม่รู้ตัว....................สถาปนิกอาสา

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

สถาปนิกอาสา...กับบ้านตัวเอง

ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูกาลครับ หน้าฝนเริ่มเข้ามาแล้วเราคงต้องดูแลบ้านกันหน่อยครับ วันนี้พอจะมีเวลาเลยปีนหลังคาบ้านสำรวจรางน้ำ กระเบื้องหลังคา ไม่ได้ขึ้นมาเกือบปี ตอนนี้มีตะกอนดินจากไหนก็ไม่รู้ครับกองอยู่จนเริ่มมีต้นไม้ต้นเล็กๆงอก มีเศษใบไม้ ผลมะม่วงเน่าจนเหลือแต่เม็ดกองปิดรางน้ำ เลยจัดการลอกทำความสะอาดซะเลย ต่อมาสำรวจกระเบื้อง(ลอนคู่) มีบางแผ่นเริ่มมีรอยร้าวเล็ก จะจัดการทำความสะอาดและทาด้วยฟลินท์โคทท์ตามแนวร้าว ไหนๆขึ้นบนหลังคาแล้วก็เลยจัดการเล็มกิ่งมะม่วงที่เบียดตัวบ้านอยู่ด้วยซะเลย
หน้าฝนนี้อย่าลืมสำรวจบ้านกันบ้างนะครับ....

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

การดูแลบ้านหลังน้ำท่วม

วันนี้สถาปนิกอาสามีบทความดีๆเกี่ยวกับการดูแลบ้านหลังน้ำท่วม ซึ่งเป็นบทความจาก ท่านอาจารย์ยอดเยี่ยม เทพธรานนท์ สถาปนิกอาวุโส และอดีตนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ เพื่อแนะนำแนวทางง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของท่านหลังจากน้ำท่วมมาบอกเล่าให้ทราบกัน

- ระบบไฟฟ้า ขณะน้ำท่วมทุกบ้านคงจะปิดวงจรไฟฟ้าหรือคัทเอ้าท์ทั่วทั้งบ้าน ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าเดินในระบบ ซึ่งลดอันตรายแก่ผู้อยู่อาศัย และแก้ปัญหาจากไฟฟ้าลัดวงจรได้อย่างแน่นอน แต่เมื่อน้ำลดลงควรตรวจสอบระบบไฟฟ้าในบ้านของท่านดังนี้ครับ
เปิดคัทเอ้าท์ให้มีกระแสไฟฟ้าเข้ามา ถ้าปลั๊กหรือจุดใดจุดหนึ่งในระบบยังเปียกชื้นอยู่ คัทเอ้าท์จะตัดไฟและฟิวส์จะขาดให้เปลี่ยนฟิวส์แล้วทิ้งไว้ 1 วันให้ความชื้นระเหยออกไปแล้วลองทำใหม่ หากยังเป็นเหมือนเดิมคงต้องตามช่างไฟมาแก้ไขดีกว่าเสี่ยงชีวิตครับ
เมื่อทดสอบผ่านขั้นตอนแรกไปแล้ว ลองทดสอบเปิดไฟฟ้าทีละจุดและทดสอบกระแสไฟฟ้าในปลั๊กว่ามาปกติหรือไม่ด้วยไขควงทดสอบไฟ หากทุกจุดทำงานได้ก็สบายใจได้ หากมีปัญหาอยู่ต้องรอให้ความชื้นระเหยออกก่อน ถ้ายังมีปัญหาก็คงต้องตามช่างมาแก้ไขหรือเปลี่ยนปลั๊ก/ สวิช์เหล่านั้นครับ ลองดับไฟทุกจุดในบ้าน ปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าออกทั้งหมด แต่ยังเปิดคัทเอ้าท์ไว้แล้งววิ่งไปดูมิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านว่าหมุนหรือไม่ หากไม่เคลื่อนไหวแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านเราไม่น่าจะรั่ว แต่ถ้ามิเตอร์หมุนแสดงว่าไฟฟ้าในบ้านท่านอาจจะรั่วได้ ให้รีบตามช่างไฟมาดูแลโดยเร็วครับ หากพอมีงบประมาณสำหรับปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าในบ้านของท่าน แนะนำให้ตัดปลั๊กไฟในระดับต่ำๆ ในบ้านชั้นล่างออกให้หมด (ถ้าคิดว่าน้ำท่วมอีกแน่ๆ ) แล้วปรับตำแหน่งปลั๊กไฟไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.10 เมตร หลังจากนั้นควรแยกวงจรไฟฟ้าออกเป็น 2-3 วงจร คือ 1. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นล่าง (ที่น้ำอาจท่วมถึง) 2. วงจรไฟฟ้าสำหรับบ้านชั้นบนขึ้นไป (ที่น้ำท่วมไม่ถึง) 3. วงจรสำหรับเครื่องปรับอากาศ การกระทำดังกล่าวจะทำให้ท่านควบคุมการเปิด-ปิดวงจรไฟฟ้าในบ้านได้อย่างอิสระ และง่ายต่อการซ่อมแซมบำรุงรักษาครับ

- ระบบประปา เป็นอีกระบบที่มีความสำคัญเพราะเกี่ยวกับสุขอนามัยของผู้อยู่อาศัย มีแนวทางตรวจสอบระบบประปาในบ้านหลังน้ำท่วมดังนี้ครับ ถ้ามีบ่อเก็บน้ำใต้ดิน หรือถังเก็บน้ำในระดับน้ำท่วมถึง พึงระลึกเสมอว่าน้ำที่ท่วมเป็นน้ำสกปรกเสมอ ดังนั้นควรล้างทำความสะอาดถังน้ำ และบ่อน้ำให้สะอาดเพื่อความปลอดภัยของท่านและสมาชิกในบ้าน โดยไม่เสียดายน้ำ แล้วจึงปล่อยน้ำประปาใหม่ลงเก็บไว้ใช้งานอีกครั้งหนึ่งครับบ้านที่มีระบบปั๊มน้ำควรตรวจสอบอุปกรณ์ปั๊มน้ำ และถังอัดความดันว่าใช้งานได้เหมือนเดิมหรือไม่ โดยพิจารณาเสียงเครื่องทำงาน ดูแรงดันน้ำในท่อว่าแรงเหมือนเดิม (ก่อนน้ำท่วม) หรือไม่ หลังจากนั้นตรวจสอบดูว่าถังอัดความดันทำความดันได้ดีเหมือนเดิมหรือไม่ หากมีความผิดปกติควรตรวจสอบด้วยการแกะ แงะ ไข ว่ามีเศษผง สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตัน กีดขวางการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้หรือไม่หากปั๊มน้ำที่บ้านท่านถูกน้ำท่วม ให้เดาไว้ก่อนว่าน่าจะเสียหายและหากใช้งานต่อไปเลยอาจเกิดอันตรายจากความชื้นในมอเตอร์ได้ ควรเรียกหาช่างมาทำให้แห้งเสียก่อนตามกรรมวิธีทางเทคนิค (ที่ไม่ใช่นำไปตากแดดแบบเนื้อเค็ม) เพื่อลดความเสี่ยงจากเพลิงไหม้ในตัวมอเตอร์ได้ครับ

- อุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้แก่เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า มอเตอร์ และอาจรวมไปถึงรถยนต์ก็ได้ เป็นเครื่องจักรกลที่เราท่านไม่น่าประมาท หรือหาทางแก้ไขซ่อมแซมเอง ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ อย่าเพิ่งใช้เด็ดขาด เพราะอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้เมื่อโดนน้ำท่วม ก็แสดงว่าน้ำไหลเข้าไปในเครื่องเรียบร้อยแล้ว เราไม่มีทางรู้เลยว่าเจ้าอุปกรณ์เครื่องใช้เหล่านี้จะป่วยไข้ เสียหายแค่ไหน การนำไปตากแดดแล้วมาใช้งานต่อเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อชีวิตท่าน และอัคคีภัยในบ้านท่านมากจากการลัดวงจรของระบบไฟฟ้าและอุปกรณ์เครื่องกลของเครื่องเหล่านั้น แต่ถ้าหากจะยังใช้งานจริงๆ ก็มีข้อแนะนำดังนี้ครับคือ ตลอดเวลาที่ใช้ต้องมีคนอยู่ด้วยเสมอ เผื่อเวลาฉุกเฉินจะได้ปิดเครื่อง ดึงปลั๊กได้ทันทีที่ Cut out ไฟฟ้าหลักของบ้านท่าน ต้องมีฟิวส์คุณภาพติดตั้งเสมอ หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรเมื่อใด ต้องแน่ใจว่าวงจรไฟฟ้าจะถูกตัดออกทันทีเมื่อไม่จำเป็นต้องใช้งานอุปกรณ์เหล่านี้ ต้องรีบนำไปแก้ไขซ่อมแซมโดยช่างผู้รู้ทันทีครับ

วันศุกร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2554

สถาปนิกอาสากับป้าหมวย




เมื่อประมาณปลายเดือนมีนาคมผมได้รับเมล์ฉบับหนึ่งเล่าเรื่องและขอความช่วยเหลือให้กับ ป้าหมวย ที่เป็นผู้ใจบุญนำสุนัขและแมวข้างถนนมาเลี้ยงไว้ภายในบ้าน แต่วันนึงบ้านป้าหมวยเกิดไฟไหม้ขณะที่ป้าหมวยไม่อยู่บ้านทำให้แมวตายไปหลายตัว ข่าวเหตุไฟไหม้ออกข่าวและถูกส่งต่อด้วยสังคมออนไลน์อย่างรวดเร็ว ความช่วยเหลือเบื้องต้นเช่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ อาหารหมาและแมว ถูกส่งมาช่วยมากมาย ผมได้เข้าไปดูสถานที่ในฐานะสถาปนิกอาสาในวันถัดมาหลังจากทราบข่าวว่าจะช่วยเลืออะไรได้บ้าง ภาพที่เห็นก็ชวนให้สงสารและคิดว่าคงต้องช่วยจัดระบบต่างๆให้ป้าหมวยใหม่ด้วย ไม่อย่างนั้นก็จะอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะต่อไป เช่น ต้องเพิ่มระบบบำบัดน้ำเสียของบ้านและส่วนเลี้ยงสัตว์ แยกส่วนพักอาศัยกับเลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ในส่วนเรื่องการนำสัตว์มาเลี้ยงแบบนี้ ผมมองว่าควรทำแบบเป็นระบบด้วย คือ จัดให้มีการฉีดยาและทำประวัติ หรือทำหมันหมาแมวทุกต้วด้วย เพื่อจะได้ไม่สร้างปัญหากับผู้อาศัยข้างเคียง

โชคดีที่ไฟไหม้ครั้งนี้เสียหายเฉพาะโครงสร้างชั้นสอง ส่วนเสาชั้นล่างยังใช้ได้ ผมจึงออกแบบใหม่โดยใช้ขนาดบ้านเดิมเป็นหลัก เพื่อง่ายต่อการใช้งานแบบเดิมของป้าหมวยและง่ายต่อการขออนุญาตก่อสร้างด้วย

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

อะไรคือ....ไฟฟ้า 1 เฟส และ 3 เฟส




วันนี้ขออนุญาตินำบทความเรื่องราวเกี่ยวกับระบบไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านพักอาศัยมาเล่าสู่กันฟัง
ระบบไฟฟ้าที่การไฟฟ้าจ่ายมาตามบ้านพักอาศัยจะเรียกกันว่าระบบไฟฟ้าแรงดันต่ำ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
แบบระบบไฟฟ้า 1 เฟสและระบบไฟฟ้า 3 เฟส เราจะมาดูรายละเอียดกันว่าแต่ละแบบต่างกันอย่างไร

- ระบบไฟฟ้า 1 เฟส เป็นระบบที่สายไฟ 2 เส้นโดยเส้นหนึ่งจะมีกระแสไฟจะเรียกว่า สายเฟส และสายอีกเส้นจะไม่มีกระแสไฟจะเรียกว่า สายนิวตรอน ที่นี้ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าสายไหนเป็นสายเฟสหรือสายนิวตรอน เราลองนำไขควงที่ใช้วัดกระแสไฟแตะที่สายไฟ ถ้าไขควงมีไฟติดแสดงว่าเส้นนั้นคือ สายเฟสหรือสายที่มีกระแสไฟวิ่งอยู่(จับด้วยมือเปล่า..ไม่ได้) ซึ่งหากใช้เครื่องมือวัดแรงดันกระแสไฟฟ้าระหว่างสายทั้งสองก็จะได้เท่ากับ 220 โวล์ต

- ระบบไฟฟ้า 3 เฟส เป็นระบบที่มีสายไฟ 4 เส้น โดยจะมีสายไฟที่มีกระแสไฟฟ้าอยู่ 3 เส้นและสายนิวตรอน 1 เส้น เราจึงมักเรียกระบบสายแบบนี้ว่า ระบบไฟฟ้า 3 เฟส และก็มีแรงดันระหว่างสายเฟสและสายนิวตรอนเท่ากับ 220 โวล์ตเช่นเดียวกัน โดยสายเฟสแต่ละเส้นมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ถึง 380 โวล์ต ซึ่งทำให้สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้มากกว่าระบบสาย 1 เฟสถึง 3 เท่า จึงเหมาะกับอาคารขนาดใหญ่หรือบ้านพักอาศัยขนาดใหญ่ที่มีการใช้ไฟฟ้ามากเป็นพิเศษ


เมื่อเราจะสร้างบ้านพักอาศัยอย่าลืมปรึกษาวิศวกรไฟฟ้าทุกครั้ง แจ้งความต้องการการใช้ไฟฟ้า ประเภท จำนวนเครื่องใช้ไฟฟ้าของท่านให้ละเอียดที่สุด เพื่อที่จะได้วางแผนการก่อสร้างในส่วนของงานระบบได้อย่างถูกต้อง เพราะเมื่อท่านจะขอมิเตอร์จากการไฟฟ้าฯ ท่านจะต้องเดินสายไฟภายในให้เสร็จเรียบร้อย จากนั้นการไฟฟ้าจะเข้ามาตรวจสอบการเดินสายไฟ ถ้าการเดินสายถูกต้องตามมาตรฐานการไฟฟ้าฯ การไฟฟ้าฯจึงจะทำการติดตั้งมิเตอร์ให้ท่านได้....

วันอังคารที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ปัญหาประปา....ที่ไม่น่ากลุ้ม



วันนี้มีเคล็ดลับดีๆสำหรับการแก้ปัญหาที่เกิดจากงานประปาชำรุดเสียหาย บางปัญหาต้องให้ช่างผู้ชำนาญเป็นผู้แก้ไข แต่บางปัญหาเราก็สามารถแก้ได้ด้วยตัวเองนะครับ วันนี้มีเคล็ดลับ การดูแลรักษาฝักบัว หัวฝักบัวเมื่อใช้งานไประยะหนึ่ง จะมีคราบหินปูนเกาะบริเวณรูฝักบัว ซึ่งคราบหินปูนเหล่านี้เกิดจากน้ำประปาที่เราใช้นี่เอง เวลาเราเปิดน้ำใช้งานทำให้น้ำไหลไม่สะดวก หรือไม่ทิศทางการไหลเปลี่ยนไปทำให้การอาบน้ำดูทุลักทุเลน่าดู

วิธีแก้ เอาวิธีแบบบ้านๆเลยก็ให้ถอดหัวฝักบัวดังกล่าวมาแช่ในน้ำส้มสายชู ทิ้งไว้สัก 20-30 นาที

ปัญหาฝักบัวตันอีกแบบหนึ่งที่เราพบอยู่เสมอ คือ ตะกอนที่ปนมากับน้ำอุดตันบริเวณฟิลเตอร์ อันนี้ไม่ยากครับ ถอดสกรูเอาฟิลเตอร์ออกมาล้างทำความสะอาดแล้วใส่กลับไปเราก็จะได้ฝักบัวอันใหม่(อันเดิม)แล้วครับ

วันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


งานตกแต่งห้องครัวใหม่เป็นงานที่มีงานระบบเข้ามาสัมพันธ์กับงานตกแต่งหลายส่วน เช่น ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ระบบระบายอากาศ ดังนั้นผู้ออกแบบและเจ้าของบ้านต้องสรุปแบบงานตกแต่งให้เสร็จเรียบร้อยก่อนงานระบบจะเข้ามาทำเพื่อให้งานก่อสร้างไม่สะดุดและไม่เกิดความเสียหายภายหลัง สิ่งหนึ่งที่จำเป็นจะต้องทำก็คือ การนำเสนอภาพ 3 มิติให้แก่เจ้าของบ้านพิจารณาก่อนทำงาน เพื่อจะได้นึกภาพหลังจากงานเสร็จแล้วออก ถ้ามีอะไรที่ไม่เหมาะสมกับการใช้งานก็จะได้ปรับเปลี่ยนได้ทันการณ์ ในการทำงานจริงผู้ออกแบบต้องระบุวัสดุอุปกรณ์ที่จะใช้ในห้องครัวก่อนเพื่อจะได้ทราบขนาดที่จะไปสัมพันธ์กับงานระบบ

วันพุธที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ผนังบ้านร้าว


ผมได้มีโอกาสให้คำปรึกษาสมาชิกท่านหนึ่ง เรื่อง ผนังบ้านร้าว จากการที่ได้ไปดูที่บ้านจึงทำให้รู้ว่า ปัญหารอยร้าวเกิดจาก 2 สาเหตุหลักๆ คือ



1. บ้านทรุดตัวเนื่องจากโครงสร้าง สังเกตได้จากรอยร้าวที่ทำทิศทางเฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งต้องให้วิศวกรมาตรวจสอบอีกครั้งว่าจะซ่อมแซมอย่างไร

2. รอย ผนังบ้านร้าว เนื่องจากตอนก่อสร้างไม่ได้ทำทับหลังและเอ็น คสล. รัดรอบวงกบประตูหน้าต่าง เมื่อเราใช้งานบ่อยๆก็ทำให้เกิดรอยร้าวตามมุมวงกบ ถ้าไม่รีบแก้ไขก็จะทำให้น้ำฝนซึมเข้ามาสร้างความเสียหายกับงานพื้นและสีภายในได้ ในกรณีนี้การซ่อมไม่ยากเท่ากรณีแรก เพียงสกัดปูนฉาบตามแนวรอยร้าวกว้างประมาณ 3-4 ซม. ทำความสะอาดแนวที่สกัด จากนั้นใช้ปูนสำหรับซ่อมรอยร้าว(ไม่ใช่ปูนซ่อมโครงสร้างนะครับ)ฉาบตามแนวที่เราสกัดให้เรียบ ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทแล้วค่อยทาสีเก็บ